news-details
25-11-2024
บพท. จัดงานประชุมการพัฒนาประเด็นการวิจัยภายใต้การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการวิจัย ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสีเขียวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับโครงการประสานงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ได้จัดงานประชุมการพัฒนาประเด็นการวิจัยภายใต้การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางการวิจัยที่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจโดยการผลักดันและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายบุญเยี่ยม เหลาสะอาด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ (ฝ่าย 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นประธานเปิดงานและกล่าวถึงทิศทางในการสนับสนุนทุนภายใต้กรอบวิจัย "การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)" ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งโจทย์วิจัยจะมุ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 และเพิ่มเมืองน่าอยู่จำนวน 50 เมืองภายในปี พ.ศ. 2570 ตามมิติของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน/ ท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จรวมถึงมุ่งพัฒนาให้เมืองมีข้อมูล ความรู้ กลไก และกระบวนการในการบริหารจัดการเมืองให้มีความสามารถทางการแข่งขัน บนฐานการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เกิดการจ้างงานประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเมืองมีการเติบโตอย่างยั่งยืนไฮไลท์สำคัญของงาน คือ การเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โจทย์วันนี้ของพรุ่งนี้” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจสีเขียวของ บพท. เข้าร่วม อาทิ ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ดร.พรพิมล วราทร โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณา ติดตาม และประเมินผลฯ กล่าวถึง ความคาดหวังของการพัฒนาโจทย์วิจัยในอนาคตของการพัฒนาบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นย้ำถึง การบูรณาการเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ต้องผสมผสานคุณค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล พร้อมทั้งบูรณาการมุมมองด้านวัฒนธรรม (Culture-Based) เพื่อสร้างความยั่งยืน และการให้ความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางนโยบายที่เข้าใจความต้องการของพื้นที่ และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่ตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่อย่างแท้จริงในส่วนของการเสวนานั้น ผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ได้นำเสนอแนวคิดและมุมมองการพัฒนา เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สู่ความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มต้นที่ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม เพื่อพัฒนารูปเเบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งเเวดล้อมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานและพร้อมรับมือกับความท้าทายที่โลกและพวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภัยพิบัติ การจัดการขยะและพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ณ ขณะนี้รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถนำไปสู่ความยั่งยืน รวมถึงการผสานแนวคิดที่คำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก (Nature-based solutions) และวัฒนธรรมและเศรษฐกิจพอเพียง (Culture-based solutions) เพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)  

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด เน้นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste) และการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบวัสดุเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนได้ รวมถึงการพิจารณาปลายทางของสินค้าผศ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การศึกษาการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructures) ทั้งโครงสร้างพื้นฐานในเชิงกายภาพ (Physical infrastructures) โครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial infrastructures) โครงสร้างพื้นฐานด้านเมืองอัจฉริยะและดิจิทัล อาคารสีเขียวและการบริหารชายฝั่ง (Green building and coastal management) กรอบคิดเชิงนโยบายและธรรมาภิบาล (Policy and governance framework) นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวยังไม่สามารถพึ่งพาการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ควรสนับสนุนแนวทางให้ธุรกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้ และต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และต้องคำนึงถึงทั้งงบประมาณและผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่ด้านการเงิน แต่ยังรวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย อีกทั้งการดำเนินโครงการในพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และผู้ใช้งานจริง คุณปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เล่าถึง การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ที่มุ่งเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างเมืองที่น่าอยู่ คนมีความสุข สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และเป็นแห่งการเรียนรู้ การประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและประชาชน ในการสร้างเศรษฐกิจสีเขียว โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ การสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนและได้ประโยชน์ร่วมกันในลักษณะ Win-Win situationคุณสุวิมล วัฒนะวิรุณ ตัวแทนจากUNIDO กล่าวถึง การพัฒนาที่คิดถึงทุกคนอย่างครอบคลุม (Social Inclusiveness) และในทุก ๆ ขั้นตอนควรคำนึงถึง การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง โดยสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ควรขับเคลื่อนไปพร้อมกับการแผนปฏิบัติการเฉพาะเชิงพื้นที่ การมีชุดข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐานด้านงบประมาณและการเงิน การออกแบบนโยบายที่ทำร่วมกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการพัฒนาคนเพื่อรองรับกับเศรษฐกิจสีเขียว เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน การสร้างความยั่งยืนต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน 

นอกจากนี้ ภายในงานนี้ได้มีการระดมสมองจากผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายภาคส่วน ในการพัฒนาและกำหนดโจทย์วิจัยในการสนับสนุนทุนภายใต้กรอบการวิจัย “การพัฒนาเมืองและพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจโดยรอบบนฐานเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” ในอนาคต โดยมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่ครอบคลุมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่ตอบโจทย์การพัฒนาของพื้นที่ การศึกษาการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green infrastructures)รวมไปถึงการศึกษานโยบายและการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจและกำลังเป็นโจทย์วิจัยสำคัญที่ท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางชีวภาพเเละบริการของระบบนิเวศ (Biodiversity and Ecosystem Services)การเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Agriculture and food system) และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy)


#บพท

#หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ 

#GreenEconomy



RECENT POST

POPULAR POST